เมนู

9. อุทายีสูตร


ว่าด้วยอนุสติ 6


[300] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระอุทายีมา
ถามว่า ดูก่อนอุทายี อนุสติมีเท่าไรหนอแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม
อย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้นิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระ-
อุทายีแม้ครั้งที่ 2 ว่า ดูก่อนอุทายี อนุสติมีเท่าไรหนอแล เมื่อพระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้นิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสถามท่านพระอุทายีแม้ครั้งที่ 3 ว่า ดูก่อนอุทายี อนุสติมีเท่าไรหนอแล
แม้ครั้งที่ 3 ท่านพระอุพายีก็ได้นิ่งอยู่.
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ดูก่อนท่าน
อุทายี พระศาสดาตรัสถามท่าน ท่านพระอุทายีได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านอานนท์
ผมได้ยินพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้
เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึก
ถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั่งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสติ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อน
อานนท์ เราได้รู้แล้วว่า อุทายีภิกษุนี้เป็นโมฆบุรุษ ไม่เป็นผู้ประกอบอธิจิตอยู่
แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ต่อไปว่า ดูก่อนอานนท์ อนุสติมีเท่าไรหนอ
แล ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนุสติมี 5
ประการ 5 ประการเป็นไฉน ? คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ

บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี
อุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสติซึ่งภิกษุเจริญ
แล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมทำอาโลกสัญญาไว้ในใจ ย่อมตั้งสัญญาว่า
เป็นกลางวันอยู่ เธอกระทำอาโลกสัญญาว่ากลางวันไว้ในใจ ฉันใด กลางคืน
ก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจปลอดโปร่ง อันนิวรณ์
ไม่พัวพัน ย่อมเจริญจิตที่มีความสว่างด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
นี้เป็นอนุสติซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้
ญาณทัสสนะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้า
ขึ้นไป เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มเต็มด้วยสิ่งไม่สะอาดมีประการ
ต่าง ๆ ว่า ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อใน
กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสติซึ่ง
ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามราคะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงเห็นสรีระเหมือนถูกทั้งไว้ในป่าช้าตายแล้ว
วันหนึ่ง สองวัน หรือสามวัน พองขึ้น มีสีเขียวคล้ำ มีหนองไหลออก
เธอ ย่อมน้อมซึ่งกายนี้เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แลย่อมมีอย่างนั้นเป็น
ธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ อนึ่ง พึงเห็น
สรีระเหมือนถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกา นกตะกรุม แร้ง สุนัข สุนัขจิ้งจอก
หรือสัตว์ปาณชาติต่างๆ กำลังกัดกิน เธอย่อมน้อมกายนี้เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า
กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความ

เป็นอย่างนั้นไปได้ อนึ่ง พึงเห็นสรีระเหมือนถูกทิ้งไว้ในป่าช้า มีโครงกระดูก
มีเนื้อและเลือด มีเอ็นเป็นเครื่องผูก มีโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ และเลือด
มีเอ็นเป็นเครื่องผูก มีโครงกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือด มีเอ็นเป็น
เครื่องผูก เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเครื่องผูก เรี่ยราดไปตามทิศต่าง ๆ คือ
กระดูกมือทางหนึ่ง กระดูกเท้าทางหนึ่ง กระดูกแข้งทางหนึ่ง กระดูกขา
ทางหนึ่ง กระดูกเอวทางหนึ่ง กระดูกสันหลังทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะ
ทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมกายนี้แลเข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมี
อย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง พึงเห็นสรีระเหมือนถูกเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนสีสังข์
เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองเกินหนึ่งปี เป็นท่อนกระดูกผุ เป็นจุณ
เธอย่อมน้อมกายนี้เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็น
ธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสติซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป
เพื่อถอนอัสมิมานะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้บริสุทธิ์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสติซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อแทงตลอดซึ่งธาตุหลายประการ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนุสติ
5 ประการนี้แล.
พ. ดีละ ดีละ อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงจำอนุสติข้อที่ 6 แม้นี้
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ มีสติยืนอยู่ มีสตินั่งอยู่
มีสตินอน มีสติประกอบการงาน ดูก่อนอานนท์ นี้เป็นอนุสติซึ่งภิกษุเจริญ
แล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.
จบอุทายีสูตรที่ 9

อรรถกถาอุทายีสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในอุทายีสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อุทายี ได้แก่ พระโลฬุทายีเถระ. บทว่า สุณามหํ อาวุโส
ความว่า ดูก่อนอาวุโส เราไม่ใช่คนใบ้ เราได้ยินพระดำรัสของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า แต่เรายังใคร่ครวญปัญหาอยู่. บทว่า อธิจิตฺตํ ได้แก่ สมาธิจิต
และวิปัสสนาจิต. บทว่า อิทํ ภนฺเต อนุสฺสติฏฺฐานํ ความว่า เหตุแห่ง
อนุสติ กล่าวคือฌานทั้ง 3 นี้. บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย สํวตฺตติ
ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุข ในอัตภาพนี้เท่านั้น.
บทว่า อาโลกสญฺญํ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นในอาโลกนิมิต. บทว่า ทิวา
สญฺญํ อธิฏฺฐาติ
ได้แก่ ตั้งสัญญาไว้ว้า กลางวัน. บทว่า ยถา ทิวา ตถา
รตฺต
ึ ความว่า ในเวลากลางวัน เธอมนสิการอาโลกสัญญาโดยประการใด
แม้ในเวลากลางคืน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา ความว่า ในเวลากลางคืน เธอมนสิการ
อาโลกสัญญาอย่างใด แม้ในเวลากลางวัน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้นอย่างนั้น
เหมือนกัน. บทว่า วิวเฏน ได้แก่ ปรากฏแล้ว. บทว่า อปริโยนทฺเธน
ความว่า จะถูกนิวรณ์รึงรัดไว้ก็หาไม่. บทว่า สปฺปภาสํ จิตฺตํ ภาเวติ
ความว่า เพิ่มพูนจิตพร้อมด้วยแสงสว่าง คือยังจิตนั้นให้เจริญ เพื่อประโยชน์
แก่ทิพยจักษุญาณ. ก็คำใดที่พระอานนทเถระเจ้ากราบทูลว่า อาโลกสญฺญํ
มนสิ กโรติ
คำนั้นพึงเข้าใจว่า ท่านกล่าวหมายเอาอาโลกสัญญาที่กำจัด
ถีนมิทธะออกไป ไม่ควรเข้าใจว่า หมายเอาอาโลกสัญญา คือทิพยจักษุญาณ.